ยาเคมีบำบัด คือ อะไร

ยาเคมีบำบัด คือ อะไร

   บ่อยครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด หรือ บางคนอาจเรียกสั้นๆ ว่า คีโม ซึ่งมาจากคำว่า chemotherapy แม้เราจะคุ้นเคยกับการใช้ยา แต่เมื่อได้ยินคำว่าการได้ยาเคมีบำบัด ก็จะเกิดความกลัว เพราะเรื่องราวที่บอกต่อกันมาเรื่องการได้รับยาเคมีบำบัด มีแต่ความน่ากลัว เช่น เรื่องคลื่นไส้ อาเจียน หรือผมร่วง และที่รุนแรง คือ ภาวะการติดเชื้อจากภูมิต้านทานที่ต่ำ

ยาเคมีบำบัด คืออะไร ? 

        โดยความเป็นจริง ยาเคมีบำบัดก็คล้ายกับยาทั่วไป ที่เป็นสารเคมี เพียงแต่ยาเคมีบำบัด จะออกฤทธิ์ ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็น เซลล์ที่แบ่งตัวเร็ว ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด ในขณะเดียวกัน ผลเสียหรือภาวะแทรกซ้อน ก็จะเกิดกับเซลล์ปกติในร่างกายบางชนิดที่มีการแบ่งตัวต่อเนื่องเช่นกัน ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือด เซลล์ผิวหนัง เยื่อบุทางเดินอาหาร เส้นผม แต่ เมื่อเทียบข้อดีข้อเสียแล้ว ก็คุ้มที่จะใช้ยาเคมีบำบัด โดยเฉพาะปัจจุบัน เรามีความรู้ความเข้าใจ ในการป้องกัน และลดความรุนแรงของยาเคมีบำบัด ได้เป็นอย่างดี เช่น การลดอาการอาเจียน หรือ ภาวะเม็ดเลือดขาวตกเป็นต้น

          ในปัจจุบันมีการคิดค้นและพัฒนา การรักษามะเร็ง ในลักษณะต่างๆกัน เช่น ยาต้านฮอร์โมน ยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของโปรตีนในเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยจำเพาะหรือที่เป็นข่าวดังมากในปีนี้ คือผู้ที่คิดค้นการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด และได้รับรางวัล โนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2018 ได้แก่ James P. Allisonจาก MD Anderson Cancer Center และ Tasuku Honjo University of Kyoto แต่อย่างไรก็ตามยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งส่วนมาก ยังคงเป็นยาเคมีบำบัดที่เป็นมาตรฐาน เพราะเป็นการรักษาที่มีการศึกษามายาวนาน และราคาไม่สูงมากนัก 

บทบาทของยาเคมีบำบัด 

        เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษามะเร็งด้วยการผ่าตัด หรือ ฉายรังสี ยาเคมีที่ใช้ทั่วไป ยกเว้นกลุ่มที่ฉีดเข้าเฉพาะที่ผ่านเส้นเลือดแดง จะคุณสมบัติสำคัญ คือ สามารถกระจายไปได้ทุกส่วนของร่างกายเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ในขณะที่การฉายรังสี หรือการผ่าตัดเป็นการรักษาเฉพาะส่วนที่ได้รับการผ่าตัด หรือบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี การให้เคมีบำบัดจึงมักจะมีบทบาทสำคัญในโรคที่มีการกระจายทั่วตัว ได้แก่ โรคมะเร็งโลหิตวิทยา หรือมะเร็งในระยะแพร่กระจาย หรือ มีแนวโน้มจะกระจาย เช่น มะเร็งเต้านม ที่เราใช้ยาเคมีบำบัดในการรักษาเสริม หลังการผ่าตัดเป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์

  1. มุ่งหวังรักษาให้หายขาด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเต้านม เป็นต้น
  2. เพื่อการควบคุมโรค หรือ เพื่อบรรเทาอาการ สำหรับมะเร็งบางชนิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นลดความเจ็บปวด และมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น

ในปัจจุบัน การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จึงยังเป็นการรักษาหลักอย่างหนึ่งในโรคมะเร็ง ที่มีประสิทธิผล และ สามารถควบคุมภาวะแทรกซ้อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ โดยมีวีธีการให้และการรักษาที่แตกต่างกันตามแต่ชนิดของโรคมะเร็งและยานั้นๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Post Views: 4,938
Language »