การฉายรังสี เทคนิค SBRT ในมะเร็งตับอ่อน

    แพทย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ปรึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการรักษาด้วยรังสี แพทย์ท่านนี้ได้พูดกับผมว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขามีความรู้สึกว่า การฉายรังสี ก็คือ การฉายรังสี ฉายที่ไหน ก็เหมือนกัน

    วันนี้ท่านได้ศึกษาพบว่า มีความแตกต่างมากมายทั้งเรื่องเครื่องมือ และเทคนิค รวมทั้งความชำนาญของรังสีแพทย์ ที่เป็นผู้กำหนดเป้าหมาย และควบคุมภาวะแทรกซ้อน ในเนื้อเยื่อปกติที่อยู่โดยรอบ 

  ผมจึงจะนำเรื่องมะเร็งตับอ่อนที่ท่านปรึกษา มาเป็นตัวอย่างในการแสดงความแตกต่างของเทคนิคของรังสี เพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกการรักษา และวิเคราะห์ ผลการวิจัย 

   เริ่มง่ายๆ ด้วยในอดีตเราใช้รังสีโคบอลท์ ซึ่งมีพลังงานในการทะลุทะลวงที่ต่ำ ขอบรังสีที่ไม่คมชัด จึงมีภาวะแทรกซ้อนได้มาก เหมือกับการมีดเล็กๆ ทื่อๆ ไปเฉือนเนื้อ ก็จะเกิดความชอกช้ำ และ ต้องเชือดหลายครั้งกว่าจะขาด

     ต่อมาก็เป็นเครื่องเร่งอนุภาคที่มีอำนาจการทะลุทะลวง ได้ลึกกว่า และ ด้วยระบบการวางแผนการฉายรังสี ด้วยคอมพิวเตอร์ จึงเป็นที่มาของ รังสีสามมิติ ทำให้การฉายรังสีรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

   แต่… การฉายรังสีสามมิติส่วนใหญ่ ยังเป็นการฉายรังสีจำนวนครั้งที่สูง (25-35 ครั้ง) ปริมาณรังสีต่อครั้งต่ำ ซึ่งจะดีมากในมะเร็งศีรษะและลำคอ เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งช่องปาก หรือมะเร็งที่มีการแบ่งตัวเร็วและตอบสนองไว ส่วนกลุ่มที่ดื้อต่อรังสี และตอบสนองช้า เราต้องการปริมาณรังสีต่อครั้งที่สูง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น

    ปัญหาจึงอยู่ที่เครื่องฉาย และการควบคุมรังสี โดยเครื่องฉายแสงระดับสูงจะสามารถฉายแสงด้วยเทคนิคที่เรียกว่า รังสีร่วมพิกัด ซึ่งมีความแม่นยำสูงมากจนทำให้เราสามารถใช้ในการผ่าตัดด้วยรังสีได้ ที่เราเรียกกันว่ารังสีศัลยกรรม ปัจจุบันความก้าวหน้านี้ได้ถูกนำมาใช้ส่วนลำตัว ที่เขาเรียกว่า SBRT จึงทำให้มาตรฐานการรักษาเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังนั้น เครื่องฉายที่มีเทคโนโลยีระดับสูง ทีมแพทย์ที่สามารถใช้เทคนิคการฉายรังสีขั้นสูงได้ จึงสำคัญต่อการรักษามะเร็งเป็นอย่างยิ่ง” 
 
  การรักษาหลักในมะเร็งตับอ่อน คือการผ่าตัด แต่ด้วยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาในระยะลุกลาม การฉายแสงด้วยเทคนิค SBRT จึงมีบทบาทในหลายๆช่วง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มโอกาสการผ่าตัดโดยการฉายแสงให้ก้อนมีขนาดเล็กลงก่อนการผ่าตัด การยืดระยะเวลาการอยู่รอด และการบรรเทาอาการโดยเฉพาะอาการปวด ซึ่งสามารถลดการใช้ยาแก้ปวด และบางรายหายปวดไปเลย โดยมีผลการตอบสนองอยู่ในช่วง 40-100 % นำไปสู่คุณภาพชีวิติที่ดีขึ้น
 
    ในปี 2020 มีรายงานที่ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าการใช้เทคนิครังสีร่วมพิกัด SBRT ในมะเร็งตับอ่อนระยะลุกลามเฉพาะที่ร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด gemcitabine ได้ผลดีกว่าเมื่อเทียบการฉายแสงทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเพิ่มอัตราการอยู่รอด และยังลดผลข้างเคียงรุนแรงเช่น ลำไล้อุดตัน ลำไส้ทะลุ อีกด้วย 
 
     ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการฉายรังสีแบบ SBRT หรือรังสีร่วมพิกัด ในมะเร็งตับอ่อน ให้เห็นความสำคัญของปริมาณรังสีต่อครั้ง และจำนวนครั้งในการฉาย ซึ่งการจะทำได้ต้องใช้เครื่องฉายที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูง ทีมแพทย์ที่สามารถใช้เทคนิคขั้นสูงได้
แน่นอนที่สุด ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้ผลเช่นเดียวกัน เพราะยังมีปัจจัยความแตกต่างของการลุกลาม สภาพร่างกาย การตอบสนองต่อยา เป็นองค์ประกอบ ดังนั้นแพทย์ ผู้ให้การรักษา จึงควรทำงานร่วมกันในลักษณะสหสาขา และ นำเสนอเพื่อพิจารณาร่วมกันกับผู้ป่วยและญาติ จะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยในแต่ละคน 
ที่มา:
Shalini Moningi : Contemporary use and outcomes of radiation and chemotherapy for unresectable pancreatic cancer
Clinical and Translational Radiation Oncology 2022; 35: 9-16
Christelle Bouchart : Novel strategies using modern radiotherapy to improve pancreatic cancer outcomes: toward a new standard? Ther Adv Med Oncol. 2020; 12
Systematic Review Pain Relief after Stereotactic Radiotherapy of Pancreatic Adenocarcinoma: An Updated Systematic Review Milly Buwenge 1,2, Curr Oncol. 2022 Apr; 29(4): 2616–2629.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Post Views: 2,348
Language »