เป็นมะเร็ง กินคีโต หรือ ทำ IF ดีมั้ย

เป็นมะเร็ง กินคีโต หรือ ทำ IF ดีมั้ย

คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตจริงๆ ตอบรายคนเสียจนเมื่อย วันนี้ขอเขียนให้ได้อ่านกันทั่วๆ
คำตอบสำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน ‼️
ก่อนจะตอบคำถามนี้ในแต่ละคน ต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของแต่ละคนก่อน ได้แก่
1. เป็นมะเร็งที่กำลังรักษาอยู่ หรือรักษาจบแล้ว
2. เป็นคนอ้วนหรือผอม (ตัดสินจาก BMI)
3. มีโรคอื่นๆร่วมด้วยไหม เช่น ความดัน เบาหวาน หัวใจ กระเพาะอาหาร รวมถึงสภาวะปกติพื้นฐานอื่น เช่นการขับถ่าย

คร่าวๆก็จะต้องรู้ประมาณนี้ก่อนถึงจะตอบได้ ลองตอบคำถามข้างบนดูก่อน แล้วค่อยมาดูกันว่าเราเหมาะสมสอดคล้องกับข้อไหนข้างล่างนี้ 

  1. สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งที่รักษาครบแล้ว จบแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพียงแค่ตรวจติดตาม การอดอาหารด้วยวิธีต่างๆเช่น การกินคีโต (อาหารที่เน้นไขมันสูง แป้งหรือคาร์โบไฮเดรตต่ำ) การทำ IF (Intermittent Fasting) นั้นสามารถทำได้ แต่ต้องทำให้ถูกวิธี ที่สำคัญที่สุดคือ หมั่นตรวจติดตามในเวลาที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
  2. ผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะน้ำหนักเกิน (BMI มากกว่า 23) และรักษาครบแล้ว เป็นที่ยอมรับว่า ผู้ที่อ้วนมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติถึง 13 ชนิด ยกตัวอย่างได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้และทวารหนัก ดังนั้นการทำ IF หรือวิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลในการลดน้ำหนักสามารถทำได้ โดยแนะนำว่า นอกเหนือจากการทำ IF ที่ถูกวิธี เฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวเองแล้วนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอยังเป็นสิ่งสำคัญ และยังทำให้เราได้รู้ว่า วิธีการที่เราทำนั้นเห็นผลหรือไม่ เหมาะสมกับเราหรือไม่ เพื่อจะได้มั่นใจและพัฒนา การลดน้ำหนักรวมถึงการออกกำลังกาย ได้อย่างต่อเนื่อง
  3. สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ยังอยู่ในขบวนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสง แนะนำว่าให้รับประทานแบบปกติ เพราะระหว่างรับการรักษานั้น ร่างกายต้องการสารอาหารปริมาณที่เพียงพอที่จะฟื้นฟูร่างกาย มีความสม่ำเสมอในระบบเผาผลาญ เชื่อมโยงไประบบขับถ่าย ระหว่างการรับการรักษาเซลล์มะเร็งกำลังถูกทำลาย ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงด้านอื่นอยู่แล้ว เช่นการอ่อนเพลีย ท้องผูก เบื่ออาหาร เลือดเป็นกรด จึงไม่ควรเพิ่มสภาวะอื่นเข้าไปในช่วงนี้ เมื่อมีความผิดปกติใดเกิดขึ้นระหว่างการรับการรักษา จะสามารถวินิจฉัยได้ตรงประเด็นง่ายขึ้นด้วย
    ต้องยอมรับว่างานวิจัยและข้อมูลของการรับประทานแบบคีโตและการทำ IF นั้น ไม่ได้ทำในผู้ป่วยมะเร็งโดยตรง ดังนั้นการปรับใช้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรู้เท่าทันและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เป็นสำคัญ
     
    อ้างอิง
  4. https://www.cdc.gov/cancer/obesity/index.htm
  5. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC9530862/
  6. https://www.rcpjournals.org/content/clinmedicine/23/6/615
Post Views: 577
Language »