ปลดล็อค ศุขไสยาศน์

ปลดล็อค ศุขไสยาศน์

หลายๆ คนที่ได้ติดตามแผนกกัญชาทางการแพทย์ของ รพ.แคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา มาคงได้ยินชื่อตำรับสมุนไพรที่ชื่อว่า”ศุขไสยาศน์” ที่ใช้สำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับและเบื่ออาหารกันมาบ้างแล้ว

คิดว่าคงมีหลายคนที่กังวลอยู่ว่าถ้าเราใช้ยาศุขไสยาศน์ซึ่งมีกัญชาเป็นส่วนผสม จะเป็นการใช้ยาเสพติดไหม ต่อจากนี้จะพาไปทำความเข้าใจกันว่าตำรับนี้เป็นยาเสพติดหรือไม่

ต้องขอเกริ่นเรื่องสมุนไพรที่เป็นยาเสพติดของไทยก่อนว่าในช่วงก่อนปี พ.ศ.2522 ประเทศไทยสามารถใช้กัญชา กัญชง กระท่อมกันได้อย่างเสรี ไม่ได้มีข้อห้ามหรือจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี 2522 กัญชา กัญชง และกระท่อม ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดเนื่องจากเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีฤทธิ์หลอนประสาท แต่ในปี 2562 กัญชา และกัญชง อนุญาตให้ใช้ได้ในทางการแพทย์และการวิจัย

หลังจากนั้นในปี 2563 กัญชาทุกส่วน ยกกเว้น ยอด ช่อดอก และเม็ด ถูกยกเลิกออกจากพรบ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระดับโลกหรืออนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 ที่ว่าไว้ว่า “กัญชา หมายถึง ยอด ดอก หรือผลของกัญชา (แต่ไม่รวมเม็ดหรือใบซึ่งมียอดติดอยู่ด้วย) ” ดังนั้นส่วนที่เป็นยอด ดอก หรือผลของกัญชาเป็นยาเสพติดแต่ส่วนอื่นของกัญชานั้นไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติด

ยาตำรับศุขไสยาศน์เป็นตำรับที่ใช้ส่วนของใบกัญชาเป็นส่วนผสม ดังนั้นตำรับศุขไสยาศน์จึงไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ทั้งนี้การใช้กัญชาถึงแม้ได้รับอนุญาตแล้วก็ตาม
แต่เมื่อเป็นยาที่ใช้รักษาโรค เมื่อต้องใช้ควรปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพ เพื่อความถูกต้องในการรักษาและปลอดภัยต่อผู้ป่วยอีกด้วย

พทป.ฐิตาภา ทองดี
แผนกกัญชาทางการแพทย์

ที่มา
• https://www.oncb.go.th/Home/DocLib19/อนุสัญญาว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ%20ค.ศ.1961%20และพิธีแก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ%20ค.ศ.1961,1972.pdf
• https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/PDF/law/December_2020/T_0033.pdf
• https://cannabis.fda.moph.go.th/wp-content/uploads/PDF/law/August_2019/ประกาศกระทรวง-สธ.-เรื่อง-ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท-5-ฉบับที่-2-พ.ศ.2562.pdf

Language »