วันนี้มีคำถามสุดฮิต ขนาดเต้านมมีผลกับการเป็นมะเร็งเต้านมหรือไม่ เต้านมเล็กต้องตรวจแมมโมแกรมไหม หรือคลำเอาก็พอ
   ถ้าให้ตอบสั้นๆฟันธงก็คือ ขนาดเต้านมไม่มีผลเพิ่มหรือลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านม แต่!! อะไรล่ะที่มีผล ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมคือ ความหนาแน่นของเนื้อเต้านม ซึ่งความหนาแน่นไม่ได้สัมพันธ์กับขนาดเต้านม เต้านมที่ใหญ่ อาจเป็นเต้านมที่ความหนาแน่นมากหรือน้อยก็ได้ และเต้านมขนาดเล็กก็อาจมีความหนาแน่นมากหรือน้อยได้เช่นกัน ส่วนอื่นของเต้านมนอกเหนือจากเนื้อเต้านมแล้วยังมีไขมัน ท่อน้ำนม ถุงน้ำนม ผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมมาก มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าผู้ที่มีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมน้อย
 
    การคลำเต้านมเป็นวิธีที่ง่ายและทำได้เองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากการคลำเต้านมแล้วยังควรสังเกตความผิดปกติอื่นเช่น สีผิวบริเวณเต้านม ผื่น ลักษณะหัวนมผิดปกติจากเดิมหรือไม่เช่น บุ๋ม สีเปลี่ยน มีของเหลวไหลออกมา บวม ยุบ อย่างไรก็ตาม การตรวจเต้านมด้วยตัวเองมีโอกาสผิดพลาดสูงกว่าการตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ ข้อแนะนำมาตรฐานสำหรับผู้หญิงทุกคนคือการเข้าตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์เต้านมเป็นประจำทุกปี เมื่ออายุ 40 ปีเป็นต้นไป หรือหากครอบครัวสายตรง (มารดา พี่น้อง(ทุกเพศ)) มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี ให้ญาติสายตรงท่านอื่น (ลูก พี่น้อง) เริ่มตรวจแมมโมแกรมที่อายุผู้ป่วย ลบด้วย 10 เช่น หากมารดาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุ 39 ปี ลูกควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมอัลตราซาวน์เมื่ออายุ 29 ปีหรือเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์  (ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยกว่า 40 ปี สามารถเข้ารับการตรวจยีน BRCA ไม่มีค่าใช้จ่าย ในโครงการป้องกันมะเร็งเต้านมของ สปสช. (สอบถามรายละเอียดที่โรงพยาบาลเฉพาะทางมะเร็งแคนเซอร์อลิอันซ์ ศรีราชา โทร 033-046-333)*
    ปัจจุบันมีการตรวจหามะเร็งเต้านมอีกวิธีจาก ctDNA ที่อาจตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ยังไม่เป็นก้อน เรียกว่าการตรวจ SPOT MAS ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งได้ถึง 10 ชนิดรวมถึงมะเร็งเต้านมด้วย วิธีการตรวจไม่ยุ่งยาก จะด้วยการเจาะเลือดเพียงครั้งเดียว และสามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองประจำปีได้
เต้านมเล็กหรือใหญ่ มีความเสี่ยงไม่แตกต่างกัน การตรวจพบเร็วเพิ่มโอกาสการหายขาดได้เป็นอย่างมาก
Post Views: 102
Language »