การใช้น้ำมันกัญชา กับคนไข้มะเร็งเต้านมที่ใช้ยา Tamoxifen

การใช้น้ำมันกัญชา กับคนไข้มะเร็งเต้านมที่ใช้ยา Tamoxifen

   ในกระบวนการรักษามะเร็งเต้านม วิธีการมาตรฐานซึ่งได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี การใช้ยาเคมีบำบัด และหรือยารับประทาน เป็นวิธีการที่ได้ผลดี โดยการรักษาจะเป็นแบบใด และเรียงลำดับการรักษาอย่างไร แพทย์จะพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยขึ้นกับสภาวะของร่างกาย และลักษณะของเซลล์มะเร็ง 

    คนไข้บางรายที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รับประทานไม่ได้ หรือนอนไม่หลับ แพทย์สามารถพิจารณาใช้น้ำมันกัญชาร่วมในการรักษาได้ ซึ่งมีผลเพิ่มคุณภาพชีวิตและส่งผลในการให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดี หลังการผ่าตัด ฉายแสง หรือให้ยาเคมีบำบัดแล้ว คนไข้ส่วนหนึ่งที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก จะได้รับยา Tamoxifen รับประทานต่อเนื่อง

      ตัวยา Tamoxifen เองนั้น ไม่ได้เป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ด้วยตัวเอง เมื่อเรารับประทาน Tamoxifen เข้าไป ยาจะถูกเอนไซม์สองตัว ชื่อว่า CYP3A4 และ CYP2D6 ทำการเปลี่ยนยา Tamoxifen ให้กลายเป็นตัวยาชื่อ endoxifen ซึ่งเป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์จริงๆ

    ดังนั้น หากมีอะไรก็ตาม ทำให้เอนไซม์สองตัวนี้ทำงานน้อยลง หรือทำงานไม่ได้ ก็จะทำให้ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยน Tamoxifen เป็น endoxifen ได้ ก็เสมือนว่า เราไม่ได้กินยา Tamoxifen หรือจะไม่ได้รับผลในการรักษาด้วยยา Tamoxifen นั่นเอง

      น้ำมันกัญชามาตรฐานที่มีใช้กันในประเทศไทยปัจจุบัน มีสารออกฤทธิ์หลักอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ THC และ CBD ซึ่งใช้ในข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกัน เช่น THC ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท ลดอาการคลื่นไส้ กระตุ้นให้อยากอาหาร ลดปวด ส่วนCBD ออกฤทธิ์ต้านชัก ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยการนอนหลับ ต้านการอักเสบ ลดปวด เป็นต้น สารออกฤทธิ์ในน้ำมันกัญชาทั้ง THC และ CBD มีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทั้งสองตัวนี้ที่ใช้ในการเปลี่ยน tamoxifen ให้เป็น endoxifen โดยที่การยับยั้งของ CBD มีผลมากกว่าการยับยั้งของ THC

ในกรณีคนไข้มะเร็งที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัด สามารถใช้น้ำมันกัญชาเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดอาการปวด ช่วยให้อยากอาหาร และช่วยให้นอนหลับได้ และเมื่อหยุดยาเคมีบำบัด หรือเมื่อได้รับยา Tamoxifen แพทย์อาจพิจารณาหยุดหรือลดปริมาณการใช้น้ำมันกัญชา เพื่อประโยชน์สูงสุดในกระบวนการรักษามะเร็ง

แพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขา จะร่วมกันในการดูแลคนไข้โรคมะเร็ง เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และลดความเสี่ยงให้มากที่สุด เพื่อคนไข้มะเร็งทุกคน

ภญ.สิรินภรณ์ ลิ่มวงศ์

ข้อมูลอ้างอิง: 1. https://www.mdpi.com/2305-6320/6/1/3
2. https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/0897190020972208
3. https://www.astrazeneca.ca/content/dam/az-ca/downloads/productinformation/nolvadex-d-product-monograph-en.pdf
4. https://accurateclinic.com/wp-content/uploads/2018/07/Cannabidiol-a-Major-Phytocannabinoid-As-a-Potent-Atypical-Inhibitor-for-CYP2D6-2011.pdf

Post Views: 6,815
Language »