ฉายรังสีมะเร็งปากมดลูก เจ็บไหม ?

ฉายรังสีมะเร็งปากมดลูก เจ็บไหม ?

   หลักการของการรักษาด้วยการฉายรังสีนั้น จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง นอกจากโรคที่เป็น ระยะของโรคที่เป็นแล้ว สิ่งที่รังสีแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์จะต้องคำนึงถึงอย่างมากในการวางแผนเพื่อทำการฉายรังสีคือ  เนื้อเยื่อที่จะฉายรังสีนั้นเป็นเนื้อเยื่อชนิดใด มีความทนต่อรังสีได้สูงหรือต่ำมากน้อยเพียงใด  โดยการคำนวณปริมาณรังสีที่ได้รับนั้น จะคำนวณอย่างดีโดยคำนึงถึงจำนวนครั้งที่ฉายและปริมาณรังสีที่ได้รับในแต่ละครั้ง และมีโอกาสให้เนื้อเยื่อได้พักจากรังสีด้วย

  • ปากมดลูก เป็นอวัยวะที่สามารถทนต่อรังสีได้สูงมาก หมายความว่ารับปริมาณรังสีได้สูง เรียกได้ว่าเกือบจะมากที่สุดในเนื้อเยื่อทั้งหมดของร่างกาย แต่อวัยวะที่อยู่ใกล้กัน ได้แก่ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก ทนต่อปริมาณรังสีได้น้อย ดังนั้น การรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยการฉายแสง หรือฉายรังสี จำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณรังสีที่จะกระทบกับอวัยวะใกล้เคียงด้วย
  • แพทย์จะพิจารณาถึงปริมาณรังสีที่มากเพียงพอที่จะสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้ และก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่ออวัยวะใกล้เคียงน้อยที่สุด เพราะการรักษามะเร็ง จะไม่ใช่การใช้คนไข้เป็นสนามรบโดยคำนึงถึงแต่การมุ่งทำลายเซลล์มะเร็งให้แหลกลาญเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ทั้งระหว่างการรักษาและเมื่อรักษาเสร็จแล้ว ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • อวัยวะใกล้เคียงกับปากมดลูกได้แก่ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะปัสสาวะ ดังนั้นผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ในการฉายรังสี ที่ไปกระทบอวัยวะเหล่านี้ ซึ่งไม่สามารถทนรังสีได้เท่ากับปากมดลูก ก็จะได้แก่ ท้องเสีย ปวดเบ่ง หากได้รับปริมาณรังสีมากเกินไป อาจทำให้ผนังลำไส้เป็นแผล มีเลือดออกทางทวารหนัก
  • จะเห็นได้ว่าการฉายรังสีมะเร็งปากมดลูก มีความละเอียดอ่อน เครื่องฉายรังสีต้องสามารถปรับปริมาณรังสีได้ ทีมแพทย์ต้องมีความเชี่ยวชาญ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาที่ดีและลดผลข้างเคียงจากการรักษาได้มากที่สุด
Post Views: 2,622
Language »