กัญชาทางการแพทย์ กับแพทย์รังสีมะเร็งวิทยา

กัญชาทางการแพทย์ กับแพทย์รังสีมะเร็งวิทยา

     วันนี้ ผมจะนำผลการศึกษา ของ Jennifer Novak  และคณะ ในการสำรวจ “การตระหนักและการรับรู้” ถึงการใช้กัญชาในผู้ป่วยมะเร็ง ในกลุ่มแพทย์รังสีมะเร็งวิทยา ในสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นการบันทึกอีกก้าวหนึ่งที่มีความสำคัญ ในเรื่องกัญชา กับผู้ป่วยมะเร็ง

ในปัจจุบัน การใช้กัญชาในผู้ป่วยมะเร็งมีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการรักษามะเร็งตามมาตรฐาน ได้แก่ การผ่าตัด ฉายรังสี และการให้เคมีบำบัด

      การศึกษานี้จึงทำในกลุ่มแพทย์ทางรังสีมะเร็งวิทยา เพื่อดู”การตระหนักและการรับรู้” ในในการใช้กัญชาเพื่อร่วมรักษา โดยผู้ทำการศึกษาได้ส่งอีเมล์ให้กลุ่มแพทย์ทางรังสีมะเร็งวิทยา 873 คน ซึ่งได้รับการตอบกลับที่สมบูรณ์ 107 คน

     36% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามจะแนะนำ ให้ใช้ เพื่อลดหรือบรรเทาอาการแทรกซ้อนจากการรักษา โดยเฉพาะในรัฐที่มีการใช้กัญชา อย่างถูกกฎหมาย จะมีการใช้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

    71% ของกลุ่มที่เคยสั่งใช้กัญชากับคนไข้ รายงานว่าการใช้กัญชาร่วมรักษา ได้ผลดีในการลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน

   58% แสดงความเห็นว่า ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับกัญชาเพียงพอที่จะแนะนำคนไข้

   86% สนใจที่จะศึกษาการใช้กัญชาในผู้ป่วยมะเร็ง

      กล่าวโดยสรุป แพทย์ทางรังสีมะเร็งวิทยาส่วนใหญ่ในอเมริกา ที่ตอบกลับ เชื่อว่า มีประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์ แต่ส่วนหนึ่งก็ลังเลที่จะแนะนำหรือคัดค้านในการใช้ของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะยังลังเล แต่ก็มีความสนใจที่จะศึกษาประโยชน์และบทบาทของการใช้กัญชา ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง

ความเห็นส่วนตัวของผม ต่อรายงานฉบับนี้

1. รายงานนี้ มีผู้ที่ตอบแบบสอบถามน้อย อาจจะไม่สามารถเป็นตัวแทนของกลุ่มแพทย์รังสีมะเร็งวิทยา แต่เชื่อว่าต่อไป คงมีการขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้น
เหมือนกับหลายประเทศในยุโรป

2. การใช้กัญชา ทางการแพทย์ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ในแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเฉพาะในรัฐที่ใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย

3. มีผู้ที่ให้ความสนใจที่จะศึกษา และมีความเชื่อว่าการใช้กัญชาทางแพทย์ จะมีประโยชน์

ความเห็นที่ไม่เกี่ยวกับรายงาน

1. ภูมิปัญญาแพทย์ไทย มีการใช้กัญชามายาวนาน ในปัจจุบัน มีการศึกษาอย่างจริงจังเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งในตำรับแพทย์แผนปัจจุบันและตำรับยาแพทย์แผนไทย

2. การใช้ควรอยู่ภายใต้การควบคุมที่ถูกต้อง และผสมผสานกับการรักษาแผนปัจจุบัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้มะเร็ง เป็นการเปิดโอกาส ให้มีการรักษา เชิงวิจัย เพื่อประโยชน์ที่แท้จริงในอนาคต

ส่วนตัวผมเอง ยังไม่มีประสบการณ์ การใช้ แต่ดูจากผู้ป่วยที่มีการใช้ 2 ราย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการปวดลดลง อาการคลื่นไส้อาเจียนลดลงได้ อย่างน้อยที่สุด ถ้าเขาสามารถลดมอร์ฟีนได้ ก็คงดีไม่น้อย เราคงต้องติดตามและรายงานเพื่อนำประโยชน์การใช้กัญชาทางการแพทย์ของภูมิปัญญาไทย ให้ปรากฏผล ดังเช่น ฟ้าทะลายโจร ที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น สำหรับเรื่องโควิด 19 ในขณะนี้

ข้อมูลอ้างอิง : Support Care Cancer. 2021 Mar 26.

ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร

Post Views: 1,181
Language »