ไซนัสอักเสบ หรือ มะเร็งหลังโพรงจมูก

ไซนัสอักเสบ หรือ มะเร็งหลังโพรงจมูก

     ผู้ป่วยหลายรายที่มารับการฉายรังสีมะเร็งหลังโพรงจมูก มีประวัติการรักษาไซนัสอักเสบ หรือ โพรงจมูกอักเสบมานาน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับมะเร็งหลังโพรงจมูกกันให้มากขึ้น เพื่อให้เราสามารถสังเกตุอาการตัวเองได้

มะเร็งหลังโพรงจมูก พบมากใน 

  1. คนเอเชีย โดยเฉพาะ จีน,ฮ่องกง,ไต้หวัน,ไทย
  2. พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า
  3. อายุที่พบมาก แยกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงอายุ 15 – 25 ปี และ อายุ 50 – 60 ปี

ปัจจัยเสี่ยง 

  1.  การติดเชื้อ EBV (Epstein-Barr Virus) โดยเชื้อนี้ติดได้เหมือนเชื้อไวรัสตระกูลเริม ติดต่อโดยผ่านทางน้ำลาย การทานอาหารร่วมกัน การจูบปาก การไอ เมื่อติดเชื้อแล้ว มักไม่มีอาการ แต่เชื้อจะยังอยู่ในร่างกาย สามารถกำเริบกลับมาได้ และสามารถแพร่เชื้อได้ตลอดเวลา ดังนั้นทุกคนมีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อ EBV แต่จะก่อให้เกิดโรคหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละบุคคล
  2. การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นฝุ่นควัน,ฝุ่นละออง,ควันบุหรี่,ธูป
  3. การรับประทานและสุขภาวะ ได้แก่ผู้ที่ชอบรับประทานปลาหมักเค็ม ปลาร้า เนื้อเค็ม การสูบบุหรี่ ผู้ที่สุขภาพช่องปากไม่ดี มีภาวะการอักเสบ
  4. ปัจจัยทางพันธุกรรม

อาการไซนัสหรือมะเร็งหลังโพรงจมูก

  1. ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (60-70%) จะพบแพทย์ครั้งแรกด้วยก้อนที่คอโตโดยไม่มีอาการเจ็บปวด โดยอาจพบก้อนข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้
  2.  รองลงมา (40 – 70%) มีอาการเหมือนเป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเลือดกำเดา กลุ่มนี้มักพบว่าจะได้รับการรักษาแบบไซนัสอักเสบเรื้อรังมาก่อน
  3. อีกส่วนหนึ่ง (40 -60%) มีอาการปวดหู หูอื้อ มีน้ำออกจากหู การได้ยินน้อยลงหรือมีเสียงในหู
  4. และอีก 20% มีอาการทางระบบประสาท เช่น หน้าชา ตามองเห็นภาพซ้อน กลอกตาได้ไม่สุด ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก สำลักบ่อย

การวินิจฉัย

  1. ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประวัติครอบครัว
  2. การเจาะตรวจชิ้นเนื้อ โดยให้ยาชาเฉพาะที่หรือส่องกล้อง
  3. การตรวจเลือด
  4. การตรวจทางรังสี ได้แก่ CT Scan, MRI, เอกเรย์ปอด, อัลตราซาวน์, Bone scan, PET scan ซึ่งรังสีแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวัตถุประสงค์และเครื่องมือในการวินิจฉัยที่เหมาะสมกับระยะของโรค

การรักษา

  1.  การฉายรังสีอย่างเดียว สามารถทำได้ในผู้ป่วยที่ระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยส่วนน้อยที่จะตรวจพบได้ตอนระยะเริ่มแรก เนื่องจากอาการมักไม่เด่นชัด
  2.  การฉายรังสีร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด เพิ่มอัตราการรอดชีวิตและอัตราการปลอดโรคที่ 5 ปี ได้มากกว่าการฉายรังสีเพียงอย่างเดียว ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละราย
  3.  การผ่าตัด จะพิจารณาในบางกรณี เนื่องจากหลังโพรงจมูกเป็นตำแหน่งที่ยากต่อการผ่าตัด โอกาสเสี่ยงมีมาก จึงจะพิจารณาในรายที่มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง

เมื่อรู้จักกับมะเร็งหลังโพรงจมูกแล้ว อาจรู้สึกกลัว แต่ความจริงแล้ว การรักษาไม่น่ากลัว เนื่องจากการรักษาหลักของมะเร็งหลังโพรงจมูกได้แก่การฉายรังสี และอาจรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการวินิจฉัยพบเร็วและรักษาอย่างรวดเร็ว

บทความที่น่าสนใจ

Post Views: 29,592
Language »